การป้องกันแสงแดดในเด็ก

Last updated: 26 ม.ค. 2561  |  2484 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การป้องกันแสงแดดในเด็ก


http://line.me/ti/p/~Demedclinic


           รังสียูวี อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามความยาวคลื่นแสง ได้แก่ ยูวีซี (100-280 nm) ยูวีบี (280-320 nm) และยูวีเอ (320-400 nm) รังสียูวีบีก่อให้เกิดอาการอักเสบของผิวหนัง ปวดแสบ แดงจากผิวไหม้แดด ในขณะที่ยูวีเอจะทำให้เกิดผิวคล้ำหลังการตากแดดทันที (immediate pigment darkening) ส่งผลต่อผิวหนังในระยะยาวในการทำลายเซลล์ผิวหนังชั้นใน ทำให้เกิดผิวหนังเสื่อมสภาพจากการตากแดดเป็นเวลานาน (photoaging) และมะเร็งผิวหนัง

          ค่า SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าที่ใช้ประเมินขนาดของยูวีบีที่ทำให้เกิดรอยแดงเปรียบเทียบระหว่างผิวหนังที่ทาสารป้องกันแสงแดดและผิวหนังที่ไม่ได้ทาสารป้องกันแสงแดด

 

คำแนะนำการป้องกันแสงแดดและการใช้สารป้องกันแสงแดดตามมาตรฐานของ The American Academy of Dermatology (AAD) มีดังนี้

 
http://line.me/ti/p/~Demedclinic
คำแนะนำการป้องกันแสงแดดและการใช้สารป้องกันแสงแดดตามมาตรฐานของ  The American Academy of Dermatology (AAD)

1. การลดการสัมผัสแสงแดด
- หาที่ร่มและหลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงเวลาประมาณ 10.00-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดแรงที่สุด

- สวมใส่เสื้อผ้าป้องกันแสงแดด แขนยาว
ขายาว แว่นกันแดด หมวกปีกกว้าง

- แม้ว่าจะอยู่ในน้ำ เล่นหิมะหรือทราย ก็ควรป้องกันแสงแดดด้วยเช่นกัน

- หลีกเลี่ยงการตากแดดเพื่อทำให้ผิวเป็นสีแทน หรืออุปกรณ์ในการทำผิวให้เป็นสีแทน เช่น tanning beds

2. การใช้สารป้องกันแสงแดดอย่างถูกวิธี
- ทุกคนควรใช้สารป้องกันแสงแดด ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีสีผิวเข้ม
- สารป้องกันแสงแดดที่มีความยาวคลื่นกว้าง (broad spectrum sunscreen) กันน้ำ (water-resistant) มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
- ทาสารป้องกันแสงแดดทั้งตัวในบริเวณที่ไม่ได้โดนปกป้องด้วยเสื้อผ้า
- ให้ความสำคัญกับการทาสารป้องกันแสงแดดในบริเวณอื่นๆ ด้วย เช่น จมูก ไหล่ หลังเท้า
- ทาสารป้องกันแสงแดดเป็นประจำทุกวัน ตลอดทั้งปี
- ทาสารป้องกันแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ก่อนการออกไปสัมผัสแสงแดด
- ทาสารป้องกันแสงแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมที่มีเหงื่อมาก หรือการว่ายน้ำ 

 http://line.me/ti/p/~Demedclinic

การใช้สารป้องกันแสงแดดในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก

          เนื่องจากเด็กทารกหรือเด็กเล็กช่วงวัยหัดเดินมีชั้นของผิวหนังบางและมีความเข้มของเม็ดสีเมลานินน้อย ระบบภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ รังสียูวีจะผ่านผิวหนังไปได้ลึกกว่าและทำลายเซลล์ผิวหนังอย่างต่อเนื่องสะสม (cummulative UV damage)

          ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนควรหลีกเลี่ยงการตากแดดโดยตรง และการปกป้องผิวหนังด้วยการสวมเสื้อผ้าเป็นการป้องกันทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ในเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน นอกจากการป้องกันทางกายภาพแล้ว อาจพิจารณาใช้สารป้องกันแสงแดดที่ปลอดภัย มีฤทธิ์ในการป้องกันรังสียูวีที่มีความยาวคลื่นกว้าง (broad-spectrum sunscreen) ซึ่งควรมีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และทาในบริเวณที่สัมผัสแดด ก่อนที่จะออกไปสัมผัสแสงแดด ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจะเพิ่มขึ้น ถ้าทาสารป้องกันแสงแดดก่อนการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลาประมาณ 15-30 นาทีและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงโดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมที่มีเหงื่อมาก หรือการว่ายน้ำ

http://line.me/ti/p/~Demedclinic
สารป้องกันแสงแดด

          สารป้องกันแสงแดดออกฤทธิ์โดยสารประกอบสำคัญ (active ingredients) ที่ดูดซับค่ารังสียูวีช่วงกว้างประมาณ 280-400 nm.

1. สารป้องกันแสงแดดแบบกายภาพ (physical sunscreen) ทำงานโดยการสะท้อน (reflect) กระจายแสง (scatter) รังสียูวี สารที่นิยมใช้ ได้แก่ zinc oxide, titanium dioxide ซึ่งสารทั้งคู่นี้สามารถปกป้องแสงแดดได้ทั้งยูวีเอ และยูวีบี อาจพิจารณาทาสารดังกล่าวในปริมาณที่เหมาะสมหรือค่อนข้างหนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องแสงแดด

2. สารป้องกันแสงแดดแบบเคมี (chemical sunscreen) ทำงานโดยการดูดซับรังสียูวีและกระจายพลังงานเป็นความร้อนหรือแสง ส่วนใหญ่ของสารทางเคมีเหล่านี้สามารถดูดซับที่ความยาวคลื่นยูวีเอ2 (320-340 nm) ได้แก่ cinnamate, salicylate (เช่น homosalate), benzophenones, mexoryl XL (drometrizole tricilcocaine), tinosorb M (bis-ethylhexyloxyphenol methoxyphenyl triazine) เป็นต้น มีเพียงตัวเดียวที่ FDA อนุมัติให้เป็นสารป้องกันแสงแดดทางเคมีที่สามารถป้องกันรังสีความยาวคลื่นยูวีเอ1 (340-400 nm) ได้คือสาร avobenzone

          ในปัจจุบันสารป้องกันแสงแดดแบบมาตรฐานนิยมใช้สารป้องกันแสงแดดแบบกายภาพร่วมกับแบบเคมี เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด โดยเฉพาะการเติมสารประกอบทางกายภาพในปริมาณที่เหมาะสมในสารป้องกันแสงแดดของเด็กเพื่อลดโอกาสการเกิดการระคายเคือง และหรืออาการข้างเคียง

          ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก มักไม่มีสารประกอบของสารสังเคราะห์ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่มีน้ำหอม สามารถกันน้ำได้เพื่อป้องกันการชะล้างด้วยน้ำโดยง่ายเพื่อตอบสนองกับกิจกรรมของเด็ก และมักจะมีคุณสมบัติที่ดีเหมาะกับการทาทั้งใบหน้าและลำตัว ซึ่งควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการทดสอบเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานในการทดสอบประสิทธิภาพของสารประกอบสำคัญที่ใช้ป้องกันแสงแดดดังกล่าวด้วย

เอกสารอ้างอิง

1. Tempark T, Chatproedprai S, Wananukul S. Attitudes, knowledge, and behaviors of secondary school adolescents regarding protection from sun exposure: a survey in Bangkok, Thailand. Photodermatol Photoimmunol Photomed. 2012;28(4):200-6.
2. Quatrano NA, Dinulos JG. Current principles of sunscreen use in children. Curr Opin Pediatr. 2013;25(1):122-9.
3. Paller AS1, Hawk JL, Honig P, Giam YC, Hoath S, Mack MC, Stamatas GN. New insights about infant and toddler skin: implications for sun protection. Pediatrics. 2011;128(1):92-102
4. Meurer LN1, Jamieson B, Thurman C. Clinical inquiries. What is the appropriate use of sunscreen for infants and children? J Fam Pract. 2006;55(5):437,


โดย ผศ.นพ. เทอดพงศ์ เต็มภาคย์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตารางตรวจ: ทุกวันจันทร์ และ พุธ ที่ เดอเมช คลินิก

ปรึกษา คิวตรวจ : 0836699449 Line: demedclinic1

http://line.me/ti/p/~Demedclinic

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้